มีคำกล่าวที่ว่า ” Most People do not listen with the intent to understand, they listen with the intent to reply” คนส่วนใหญ่มักไม่ได้ตั้งใจฟังเพื่อทำความเข้าใจแต่พวกเขามักตั้งใจฟังเพื่อต่อบทสนทนากลับก็เท่านั้น
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการฟังอย่างตั้งใจเพื่อหาความหมาย ความเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูด เปรียบเทียบกับการฟังเพื่อตอบโต้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
การฟังอย่างตั้งใจคืออะไร?
การฟังอย่างตั้งใจหมายถึงการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับผู้พูด โดยไม่ได้แค่ฟังคำพูดเท่านั้น แต่ยังต้องใส่ใจในโทนเสียง ภาษากาย และอารมณ์ของผู้พูดด้วย การฟังแบบนี้ต้องใช้ความตั้งใจ ความอดทน และความตั้งใจที่จะเข้าใจผู้พูดอย่างแท้จริง ซึ่งแตกต่างจากการฟังแบบผ่านๆ ที่อาจจะได้ยินแต่คำพูด แต่ไม่ได้สนใจในรายละเอียดหรือสิ่งที่ผู้พูดกำลังคิดหรือกำลังรู้สึก
การฟังอย่างตั้งใจประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญหลายประการ ได้แก่
- การมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น ให้ความสนใจทั้งคำพูดและการสื่อสารทางกาย
- ความเห็นอกเห็นใจ พยายามเข้าใจมุมมองและอารมณ์ของผู้พูด
- การไม่ตัดสิน ฟังโดยไม่ด่วนตัดสินหรือขัดจังหวะ
- การย้ำถึงความเข้าใจ ถามคำถามเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ
การฟังอย่างตั้งใจในฐานะของผู้นำ
การทำงานกับคนหลากหลาย สถานที่ทำงานเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่การฟังอย่างตั้งใจสามารถสร้างผลลัพท์ที่ดีอย่างมาก ผู้นำที่ฟังอย่างตั้งใจและใส่ใจสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น เพิ่มขวัญกำลังใจของทีม และตัดสินใจได้ดีขึ้น พนักงานที่รู้สึกว่าตนเองมีคนที่รับฟังมักจะมีความผูกพัน ซื่อสัตย์ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งให้เกิดผลดีดังต่อไปนี้
1. การปรับปรุงความร่วมมือและนวัตกรรมในทีม
หนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่ดีคือความสามารถในการเอื้อให้เกิดการสื่อสารอย่างเปิดกว้างภายในทีม การฟังอย่างตั้งใจช่วยให้ผู้นำสามารถเข้าใจมุมมองและความคิดที่หลากหลายจากสมาชิกในทีมได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งเสริมความร่วมมือและนวัตกรรมเพราะในการทำงานเป็นทีม ความคิดของทุกคนควรได้รับการให้คุณค่า ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรืออาวุโสมากน้อยเพียงใด ซึ่งบางครั้งบริษัทขนาดใหญ่มักมีแนวโน้มในการรับฟังผู้ที่มีอายุงานมากกว่าหรือตำแหน่งงานสูง อาจจะทำให้พลาดในบางมุมมอง เช่น การหาไอเดียที่แปลกแตกต่างแต่ทำได้จริง เพราะเมื่อผู้นำฟังอย่างตั้งใจ พวกเขาจะกระตุ้นให้สมาชิกในทีมแต่ละคนแสดงความคิดเห็นใส่ใจรับฟัง คิดตาม ซึ่งมักจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ครอบคลุมมากขึ้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มากขึ้น
2. การสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับทีม
ผู้นำที่มีประสิทธิภาพเข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับทีมและหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการทำเช่นนี้คือการฟังอย่างตั้งใจ พนักงานที่รู้สึกว่าตนเองมีคนรับฟังมักจะมีความไว้วางใจในผู้นำและรู้สึกมั่นใจในการแสดงความคิดเห็น ความต้องการ และความคิดของตน ซึ่งช่วยสร้างวัฒนธรรมของความสัมพันธ์อันดีและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างจากสถานการณ์ที่พบบ่อยและเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ พนักงานคนหนึ่งกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับภาระงาน หากผู้นำรับฟังอย่างตั้งใจ ผู้นำเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา แทนที่จะเพิกเฉยต่อความกังวลของพนักงานหรือเสนอวิธีแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสม ผู้นำสามารถถามคำถามเพื่อความกระจ่างและทำงานร่วมกับพนักงานในการหาวิธีการที่ยั่งยืนมากขึ้นในการจัดการกับภาระงานนั้นไม่ใช่การปล่อยผ่านละเลยจนเกิดปัญหาตามมา และสูญเสียพนักงานดีๆ ไป
3. การตัดสินใจที่ดีและรอบคอบมากขึ้น
การตัดสินใจที่ดีในด้านการเป็นผู้นำมักขึ้นอยู่กับการเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ การฟังอย่างตั้งใจช่วยให้ผู้นำสามารถรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจ ซึ่งทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
เมื่อผู้นำไม่ฟังอย่างตั้งใจ พวกเขาอาจตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ผู้นำต้องการแก้ไขปัญหาภาระงานและการจัดสรรคนไม่ตอบโจทย์ต่อการทำงานจริง อาจเกิดเหตุการณ์ที่ส่งงาน หรือให้บริการงานต่อลูกค้าในคุณภาพงานที่ด้อยลง ส่งผลให้เกิดการเสียภาพลักษณ์ต่อองค์กรได้ในระยะยาว
หากผู้นำฟังอย่างตั้งใจระหว่างการประชุมข้อเสนอแนะกับพนักงานจะสามารถเข้าใจปัญหาที่แท้จริงภายในบริษัทได้มากขึ้น ความเข้าใจนี้จะช่วยให้ผู้นำสามารถกำหนดกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ในระยะสั้นและระยะยาวอีกเช่นกัน
การฟังอย่างตั้งใจเพื่อการพัฒนาตนเอง
การฟังอย่างตั้งใจไม่ใช่เพียงแค่การปรับปรุงความสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการเติบโตในทุกๆ ด้าน เพราะเป็นการเพิ่มความตระหนักรู้ในตนเองอีกด้วย การเรียนรู้การฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้งจะช่วยให้คุณพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ ความฉลาดทางอารมณ์ และความเข้าใจในมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการพัฒนาตนเอง
1. การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) หมายถึงความสามารถในการเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ของตนเอง รวมถึงอารมณ์ของผู้อื่นด้วย การฟังอย่างตั้งใจมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการพัฒนา EQ เมื่อคุณฟังอย่างตั้งใจ คุณจะไวต่ออารมณ์ที่ซ่อนอยู่ในบทสนทนา คุณจะเรียนรู้ที่จะรับรู้ไวต่อความรู้สึกของผู้พูดทำให้คุณจับสัญญาณที่ละเอียดอ่อนได้ อย่างการเปลี่ยนโทนเสียงหรือภาษากาย แววตา ท่าทาย จังหวะและน้ำหนักเสียงอารมณ์ที่บ่งบอกถึงความรู้สึกของผู้พูด
การฝึกฝนการฟังอย่างตั้งใจอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกด้านของชีวิตคุณ เช่น ในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม EQ ที่สูงช่วยให้คุณรับมือกับอารมณ์ที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองในลักษณะที่แสดงถึงความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งขึ้นและช่วยให้คุณจัดการกับความขัดแย้งได้ดียิ่งขึ้น
2. การเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีขึ้น
การฟังอย่างตั้งใจสามารถปรับปรุงทักษะการแก้ปัญหาของคุณได้เช่นกัน หลายครั้งที่คำตอบของปัญหาซ่อนอยู่ในรายละเอียดของการสนทนา แต่ถ้าคุณไม่ได้ฟังอย่างตั้งใจ คุณอาจพลาดข้อมูลสำคัญเหล่านั้น เมื่อคุณฟังอย่างตั้งใจ คุณจะได้รับข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติม ซึ่งสามารถช่วยให้คุณระบุสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและค้นหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม
3. การสร้างความสนใจใครรู้ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การฟังอย่างตั้งใจช่วยสร้างกรอบความคิดที่เปิดกว้างและใฝ่รู้ เมื่อคุณเข้าสู่การสนทนาด้วยเป้าหมายที่จะเข้าใจอีกฝ่ายจริงๆ คุณจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นทัศนคติที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเติบโตส่วนบุคคล
ในบริบททางการศึกษา นักเรียนที่ฟังอย่างตั้งใจมักจะมีส่วนร่วมกับเนื้อหามากกว่า พวกเขามักจะถามคำถามที่ลึกซึ้งและพัฒนาความเข้าใจในเรื่องนั้นได้ดีขึ้น
ในหลักสูตร Listen with intent ของ LHH
มีวิธีการพัฒนาทักษะการฟังอย่างตั้งใจผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ในหัวข้อต่อไปนี้
- The benefits of Listening (ประโยชน์ของการฟัง)
- Activity: Word-for-word tracking (คำต่อคำ)
- Activity: The power of being heard (พลังของการมีคนรับฟัง)
- The Realities of Listening Blocks (สิ่งที่ปิดกั้นคุณจากการฟัง)
- Activity: 10 listening blocks (10 สิ่งปิดกั้นคุณจากการฟัง)
- Listening with Intent (การฟังอย่างตั้งใจ)
- Facts & Information, Feelings & Emotions, Values & beliefs (ข้อมูลและรายละเอียด, ความรู้สึกและอารมณ์, ค่านิยมและความเชื่อ)
- Activity: Multi-level listening (การฟังลงลึกหลากหลายระดับ)
- Listen to learn and Listen to fix (การฟังเพื่อการเรียนรู้และการฟังเพื่อแก้ไข)
ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ทำให้คุณเข้าใจปฏิกริยาผู้ฟังและผู้พูดได้อย่างละเอียดและลึกซึ้ง ระมัดระวังการฟังเพื่อการตอบโต้อย่างเดียว แต่เป็นการฟังให้หลากหลายมิติ โดยหากลงเรียนในหลักสูตรนี้จะได้ฝึกความเข้าใจทฤษฎีและลงมือทำมากขึ้น ง่ายขึ้น และสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด
หากอยากฝึกบางกลยุทธ์บางประการที่จะช่วยให้คุณเป็นผู้ฟังที่ตั้งใจมากขึ้นด้วยตัวคุณเองก่อนก็สามารถทดลองทำตามกระบวนการนี้ได้เลย
- ฝึกฝนการมีสติ
การมีสติหมายถึงการอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการฟังอย่างตั้งใจ ก่อนเริ่มการสนทนา ให้คุณใช้เวลาสักครู่ในการเคลียร์ใจจากสิ่งรบกวนสมาธิ โฟกัสที่ผู้พูด และเตือนตัวเองถึงความสำคัญของการฟังให้ครบถ้วน
- หลีกเลี่ยงการขัดจังหวะหรือการตัดสิน
หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการฟังอย่างตั้งใจคือการห้ามใจไม่ให้ตอบโต้ เรามักจะขัดจังหวะหรือตัดสินผู้พูดโดยไม่รู้ตัว การฟังอย่างตั้งใจหมายถึงการหยุดพักจากความต้องการที่จะให้คำแนะนำหรือตัดสินคำพูดของผู้พูดโดยไม่ฟังจนจบ ควรเน้นที่การทำความเข้าใจมุมมองของผู้พูดโดยไม่ตอบสนองทันที
- ถามคำถามเพื่อความกระจ่าง
หากคุณไม่แน่ใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร อย่าลังเลที่จะถามคำถามเพื่อความกระจ่าง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคุณสนใจและมุ่งมั่นที่จะเข้าใจข้อความของผู้พูดอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น คุณอาจถามว่า “ช่วยอธิบายเพิ่มเติมหน่อยได้ไหม?” หรือ “ฉันอยากให้แน่ใจว่าฉันเข้าใจถูกต้อง คุณหมายความว่าอย่างนี้ใช่ไหม?”
- ใช้ภาษากายที่เหมาะสม
การใช้ภาษากาย เช่น การพยักหน้า การสบตา และท่าทางที่เปิดเผย ช่วยส่งสัญญาณให้ผู้พูดรู้ว่าคุณกำลังตั้งใจฟัง ซึ่งจะสร้างความรู้สึกที่ดีและกระตุ้นให้ผู้พูดแบ่งปันต่อไป
- สรุปคำพูดของผู้พูด
หลังจากที่ผู้พูดจบประโยค การสรุปคำพูดของผู้พูดจะช่วยยืนยันว่าคุณเข้าใจอย่างถูกต้อง คุณอาจกล่าวว่า “สิ่งที่ฉันได้ยินคือคุณรู้สึกกังวลกับกำหนดส่งงานนี้ ถูกต้องไหม?” ซึ่งไม่เพียงแต่ยืนยันการเข้าใจ แต่ยังแสดงให้เห็นว่าคุณฟังอย่างตั้งใจอีกด้วย
สำหรับใครที่ต้องการสร้างผู้นำที่มีทักษะการฟังอย่างตั้งใจ การฝึกฝนเองที่บ้านอาจไม่เพียงพอ แนะนําให้ติดต่อมาพูดคุยถึงหลักสูตร Listen with intent จาก LHH ได้เลยค่ะ