การบอกเลิกจ้างพนักงานในกรณีที่ผลงานไม่เป็นไปตามที่กำหนด

Published on
Written by

การบอกเลิกจ้างพนักงานในกรณีที่ผลงานไม่เป็นไปตามที่กำหนดอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นช่วงเริ่มงานใหม่ หรือทำงานมานานแล้วแต่เกิดข้อผิดพลาดที่มีผลกระทบค่อนข้างสูง หรือแม้แต่ในช่วงการปรับตำแหน่งใหม่ในที่ทำงานเดิม ไม่ว่าจะเป็นที่ผลงานไม่เป็นไปตามที่กำหนด หรือในกรณีที่กระทำความผิดร้ายแรง การบอกเลิกจ้างจะต้องเป็นไปตามกฏหมาย อาจต้องมีการจ่ายค่าชดเชย และที่สำคัญต้องมีความยุติธรรม

สาเหตุการบอกเลิกจ้างกรณีผลงานไม่เป็นไปตามกำหนด

เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องในอนาคต ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า สาเหตุหลักที่ต้องมีการบอกเลิกจ้างพนักงานในกรณีที่ผลงานไม่เป็นไปตามที่กำหนดมีอะไรกันบ้าง

  • ผลการปฏิบัติงานและผลงานไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดเป็นระยะเวลาอย่างต่อเนื่อง
  • ละเลยต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตรงตามกำหนดเวลาเป็นระยะเวลาอย่างต่อเนื่อง
  • การละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบาย กฎ ระเบียบ ของ บริษัท ขาดจรรยาบรรณ
  • ไม่เคารพในบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคน ส่งผลกระทบทางลบต่อทีม
  • ไม่สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อการเตรียมความพร้อมในการรับมือด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้
  • ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์
  • มีข้อผิดพลาดในการทำงานอยู่เนืองๆ
  • ขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอย่างต่อเนื่อง

พฤติกรรมที่สามารถบอกเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

สำหรับกฏหมายแรงงานในประเทศไทย นายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างพนักงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หลังจากมีการสอบสวนและมีหลักฐานชัดเจนแล้ว ในกรณีที่พนักงาน

  • ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  • จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  • ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  • ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว
  • ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ขั้นตอนการพิจารณาบอกเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม

เพื่อให้การบอกเลิกจ้างเป็นธรรมและไม่ให้เกิดการฟ้องร้อง หรือสร้างความเสียหายแก่ภาพพจน์ของบริษัทในภายหน้า การจัดการขั้นตอนการพิจารณารวมทั้งการรวมรวมหลักฐานจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการจัดการที่เหมาะสมจึงควรต้องเป็นการร่วมพิจารณาทั้งหัวหน้างานและฝ่ายบุคคลโดยที่

  • หัวหน้างานต้องมีการเก็บหลักฐานการบันทึกวันและเวลาของแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผลกระทบจากการปฏิบัติงานของพนักงาน การให้ Feedback และการประเมินผลการทำงานตามที่กำหนด การคุยเพื่อหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงและเซนต์รับทราบทั้งสองฝ่าย
  • หัวหน้างานจะต้องให้ feedback ที่ชัดเจนและมีการตกลงแผนพัฒนาตน (Performance Improvement Plan -PIP) กำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาในการวัดผลให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เพื่อสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะต้องมีการจัดฝึกอบรมให้
  • หัวหน้างานต้องสื่อสารให้ชัดเจนถึงผลงานที่คาดหวัง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นถ้าพนักงานไม่ปฏิบัติตาม และเหตุผลที่ต้องเลิกจ้างโดยแจ้งสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
  • หัวหน้างานต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการติดตามผลการปฏิบัติการตามแผนพัฒนาที่กำหนดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
  • หัวหน้างานต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบเมื่อมีการลงโทษ คือการตักเตือนด้วยวาจา จดหมายตักเตือนครั้งที่ 1 ในลำดับต่อมา และจดหมายตักเตือนครั้งสุดท้ายก่อนที่จะบอกเลิกจ้าง
  • หัวหน้างานจะต้องสร้างมาตรฐานเดียวกันกับคนในทีมเพื่อสร้างความเสมอภาคและเสถียรภาพ
  • หัวหน้างานควรต้องปรึกษากับฝ่ายบุคคลและกฏหมายในกรณีร้ายแรงเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฏหมายแรงงานและข้อกำหนด โดยเฉพาะในกรณีที่พนักงานคนดังกล่าวเคยมีกรณีฟ้องร้องเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือบริษัทมาก่อน
  • ฝ่ายบุคคลต้องมีการร่วมพิจารณาการตัดสินใจที่จะเลิกจ้างของหัวหน้างานเพื่อความยุติธรรม มีการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง ตรวจสอบเอกสาร การบันทึกการประชุมระหว่างหัวหน้างานและพนักงาน รวมทั้งกระบวนการการจัดการบอกเลิกจ้าง เพื่อให้เป็นไปตามกฏหมายแรงงาน
  • ฝ่ายบุคคลควรจะต้องมีการทำแบบสอบถามบุคคลากรที่พ้นจากงาน (Exit Interview) เพื่อเป็นการสำรวจสาเหตุที่พนักงานอาจจะไม่ได้บอกในตอนประเมินผลหรือการบอกเลิกจ้าง
  • ฝ่ายบุคคลควรต้องพิจารณาสัญญาจ้าง หรือข้อตกลงเพิ่มเติมใดใดที่มีระหว่างการทำงาน ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการบอกเลิกจ้าง
  • ในกรณีที่ต้องมีการจ่ายค่าชดเชย ฝ่ายบุคคลจะต้องพิจารณาค่าชดเชยอย่างน้อยให้เป็นตามกฏหมายแรงงาน
  • ฝ่ายบุคคลต้องประเมินผลกระทบที่มีต่อพนักงานที่เหลือในทีม ต้องมีการสื่อสารและจัดการฝึกอบรมการจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในทีมนั้นๆ

ตัวอย่างการจัดการบอกเลิกจ้างในรูปแบบต่างๆ

ตัวอย่างที่ 1 พนักงานไม่สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าขายที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลาติดต่อกันกว่า 18 เดือนแม้ว่าจะมีการจัดฝึกอบรม ให้คำแนะนำสั่งสอนจากหัวหน้างานแล้วก็ตาม หัวหน้างานมีการประชุมหารือกับพนักงานเป็นระยะๆ โดยที่ให้ฝ่ายบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมการวางแผนการพัฒนาตนเองแล้วก็ตาม แต่พนักงานยังคงละเลยไม่ปฏิบัติตามแผนที่ตกลงกันไว้เป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกันและหัวหน้างานมีการเก็บผลการประชุมทุกครั้ง ในที่สุดการตัดสินใจบอกเลิกจ้างพนักงานจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชย

ตัวอย่างที่ 2 พนักงาน Software Developer มักจะมีข้อผิดพลาดในการเขียน code อยู่บ่อยๆ และผลงานก็ไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทำให้หัวหน้างานของพนักงานต้องคอยตามแก้ไขและส่งผลกระทบทำให้เกิดความล่าช้าไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนด แม้ว่าหัวหน้างานจะจัดให้มีการฝึกอบรมและให้การช่วยเหลือในการรีวิว code ที่เขียนแล้วก็ตาม แต่ตลอดระยะเวลา 6 เดือนผลงานก็ยังคงเหมือนเดิม เกิดข้อผิดพลาดซ้ำๆ ในที่สุดต้องบอกเลิกจ้าง 2 เดือนหลังจากที่หัวหน้างานให้จดหมายตักเตือนแล้ว ในกรณีนี้บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชย

ตัวอย่างที่ 3 พนักงานไม่สามารถปรับตัวเพื่อการเรียนรู้ เตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยี CRM ที่บริษัทนำมาใช้ พนักงานในส่วนของ Customer Services ต้องเข้ารับการฝึกอบรมการใช้ระบบ CRM ซึ่งพนักงานคนนี้ก็ได้เข้ารับการอบรมเช่นคนอื่น แต่ความไม่ถนัดในเรื่องการใช้เทคโนโลยีแม้ว่าจะผ่านการอบรมแล้วก็ตาม ผลงานของพนักงานคนนี้ก็ยังคงต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป พนักงานไม่สามารถจัดการข้อเรียกร้องจากลูกค้าได้ตามเวลาที่กำหนด แม้ว่าจะมีการให้การดูแลเป็นพิเศษรวมทั้งการวางแผนพัฒนาตนมาเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วก็ตาม ส่งผลให้พนักงานถูกบอกเลิกจ้างโดยที่บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชย

บทสรุป

จากตัวอย่างข้างบนจะเห็นได้ว่าแต่ละกรณีในการบอกเลิกจ้างพนักงาน ความสำคัญอยู่ที่การจัดทำบันทึกเหตุการณ์ การให้ Feedback การสื่อสารที่ชัดเจน การให้โอกาสไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม การให้ความช่วยเหลือจากหัวหน้างาน และการจัดทำแผนพัฒนาตนรวมทั้งการวัดผลการทำงาน การประเมินชิ้นงาน ทำให้การบอกเลิกจ้างเป็นไปอย่างยุติธรรม

อย่างไรก็ตามฝ่ายบุคคลก็ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะมีผลต่อพนักงานที่ทำการบอกเลิกจ้าง เช่นการทำสัญญาที่ต่างฝ่ายสามารถบอกเลิกจ้างได้โดยไม่มีพันธะใดๆ การต่อรองระหว่างพนักงานกับบริษัทในรูปแบบเฉพาะโดยที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถรักษาข้อตกลงนั้นได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดในการบอกเลิกจ้างพนักงานคือ ต้องมีความยุติธรรม เสมอภาคและไม่กระทำการใดๆ ที่ส่อไปในทางกลั่นแกล้งพนักงาน รวมทั้งให้โอกาสพนักงานที่จะสามารถพัฒนาตน หัวหน้างานเองก็ต้องเตรียมผู้มารับผิดชอบตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้การโอนถ่ายงานเป็นไปได้ด้วยดี การแบ่งและกระจายงานในทีมอย่างเหมาะสม รวมทั้งการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานที่เหลือและทีม