เทคนิคการเปลี่ยนสายงานด้วย SMART Goal

Published on
Written by

โดยปกติเรามีเส้นทางสายอาชีพที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับเป้าหมายส่วนตัว โอกาสในองค์กร ทักษะและความสนใจ สภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยที่มีโอกาสเติบโตในเส้นทางอาชีพตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงเป้าหมายอยู่แล้วซึ่งมีรูปแบบที่พบบ่อย เช่น

  • การเติบโตก้าวหน้าตามลำดับในสายงานเดียวกัน หรือเส้นทางแนวดิ่ง (Vertical) เช่น
    พนักงานขาย → ผู้จัดการขาย → ผู้อำนวยการฝ่ายขาย
  • การเติบโตจากการพัฒนาความเชี่ยวชาญ หรือเส้นทางแนวนอน (Horizontal) เช่น
    นักวิเคราะห์การตลาด → นักวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ → นักวิเคราะห์กลยุทธ์
  • การเติบโตผสมผสานระหว่างการเติบโตแนวดิ่งและแนวนอน หรือเส้นทางแบบซิกแซก (Zigzag) เช่น
    นักพัฒนาซอฟต์แวร์ → ผู้จัดการโปรเจค → ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี
  • การเติบโตโดยมุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือเส้นทางแบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert) เช่น
    นักวิจัย → นักวิจัยอาวุโส → ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย

การย้ายสายงาน

แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเปลี่ยนงาน หรือการย้ายสายงานจากที่เคยทำอยู่ไปเป็นสายงานอื่นๆ ที่สามารถสร้างโอกาสที่จะเติบโตในอาชีพ และก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ซึ่งโอกาสที่จะเป็นไปได้หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวให้พร้อมกับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เลือกไว้ ซึ่งในบางครั้งต้องยอมแลกกับการเปลี่ยนตำแหน่งงานที่ต่ำกว่าหรือระดับเดียวกับงานเดิม แทนที่จะเป็นการเลื่อนตำแหน่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนย้ายในแนวราบ (Lateral move) การเลือกเส้นทางแบบนี้อาจไม่ได้นำไปสู่การขึ้นเงินเดือนในทันที แต่เป็นการลงทุนในอนาคตที่อาจนำไปสู่โอกาสที่ดีกว่าในระยะยาว เพราะมีข้อดีหลายๆ ด้าน เช่น

  • มีโอกาสเพิ่มทักษะใหม่ ได้เรียนรู้งานในมุมมองที่แตกต่าง เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และอาจจะทำให้ เข้าใจภาพรวมขององค์กรมากขึ้น
  • สร้างโอกาสในระยะยาว เพื่อเปิดเส้นทางอาชีพใหม่ๆ เพิ่มความยืดหยุ่นในการเติบโต และเป็นการสร้างพื้นฐานสำหรับตำแหน่งผู้บริหาร
  • หลุดจากการติดกับดักของการทำงานที่เดียว แบบเดียวในระยะเวลานาน หลีกเลี่ยงความเบื่อหน่ายในงาน หรือติดอยู่ในตำแหน่งเดิมนานเกินไป ในขณะเดียวกันลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาทักษะเดียว

ตัวอย่าง Lateral Move:

  • นักการตลาดดิจิทัล → นักพัฒนาคอนเทนต์
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย → เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์
  • นักวิเคราะห์การเงิน → นักวิเคราะห์ธุรกิจ
  • ผู้จัดการโครงการไอที → ผู้จัดการผลิตภัณฑ์

การตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้อาจจะเกิดจากการที่ไม่มีตำแหน่งว่างให้เลื่อนขึ้นในที่ทำงานปัจจุบัน ความต้องการเปลี่ยนสายงานเพราะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจช่วงขาลง หรือแม้แต่ความต้องการสร้างสมดุลชีวิต-งานที่ดีขึ้น หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะกับทัศนคติของเรา การเลือกเส้นทางแบบ Lateral move ยังช่วยให้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ ยังถือโอกาสหาความท้าทายใหม่ สร้างเครือข่ายที่กว้างขึ้นและเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

ด้วยแนวคิดนี้ LHH จึงทำความเข้าใจเรื่องการผลักดันด้านอาชีพ วางกลยุทธ์เพื่อให้พนักงานได้มีการกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ หรือแนวทางการเติบโตในสายอาชีพของแต่ละคนเพื่อแสดงพัฒนาการของอาชีพ การสร้างความมั่นใจในอาชีพ และการสนับสนุนพนักงานในช่วงเวลาสำคัญ เพื่อให้สามารถผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ได้อย่างราบรื่น

การผลักดันอาชีพเชิงรุก (Career activism) คือแนวคิดที่เน้นให้บุคคลมีบทบาทเชิงรุกในการจัดการและพัฒนาเส้นทางอาชีพของตนเอง แทนที่จะรอให้โอกาสหรือการเลื่อนตำแหน่งมาหา

Smart Goal คืออะไร?

SMART Goal คือเทคนิคการตั้งเป้าหมายที่ช่วยให้เป้าหมายชัดเจนและวัดผลได้ โดยคำว่า SMART ย่อมาจากหลักการ 5 ข้อ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้การตั้งเป้าหมายมีประสิทธิภาพสูงสุด วิธีการนี้ได้รับความนิยมในการบริหารงานและการพัฒนาตนเอง เพราะช่วยให้ผู้ตั้งเป้าหมายสามารถติดตามและประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น

Smart Goal ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

  1. S – Specific (เฉพาะเจาะจง): เป้าหมายควรระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่าต้องการทำอะไร เพื่อให้ผู้ปฏิบัติรู้แนวทางการทำงานอย่างชัดเจนและไม่หลงทาง
  2. M – Measurable (วัดผลได้): ควรกำหนดตัวชี้วัดที่สามารถประเมินความสำเร็จของเป้าหมายได้ เพื่อให้สามารถติดตามความก้าวหน้าและทราบว่าเป้าหมายได้สำเร็จหรือยัง
  3. A – Achievable (ทำได้จริง): เป้าหมายควรอยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้ โดยพิจารณาทรัพยากรและความสามารถที่มีอยู่เพื่อไม่ให้เป้าหมายเกินความเป็นจริง
  4. R – Relevant (มีความสำคัญ): เป้าหมายควรเกี่ยวข้องและสนับสนุนกับวิสัยทัศน์หรือแผนการขององค์กรหรือบุคคล เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  5. T – Time-bound (มีกรอบเวลา): กำหนดระยะเวลาชัดเจนในการบรรลุเป้าหมาย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกเร่งด่วนและมุ่งมั่นในการทำงาน

การนำ SMART Goal มาปรับใช้เพื่อเปลี่ยนสายงาน

การนำ Smart Goal จะช่วยให้การวางเส้นทางหรือแนวทางการเติบโตในสายอาชีพของแต่ละคนโดย

  1. การตั้งเป้าหมายอาชีพที่ชัดเจน
  2. การวางแผนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
  3. การแสวงหาโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต
  4. การสร้างเครือข่ายอย่างมีกลยุทธ์
  5. การนำเสนอผลงานและความสามารถของตนเองอย่างมืออาชีพ
  6. การกล้าที่จะขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  7. การรับผิดชอบต่อการพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพของตนเอง

ตัวอย่างการนำกระบวนการ SMART Goal มาใช้สำหรับการเปลี่ยนสายงานซึ่งอาจจะหมายถึง

  • ลักษณะงานเดิม →   ลักษณะงานใหม่ ในอุตสาหกรรมเดิม
  • ลักษณะงานเดิม →   ลักษณะงานเดิม ในอุตสาหกรรมใหม่
  • ลักษณะงานเดิม →   ลักษณะงานใหม่ ในอุตสาหกรรมใหม่
  • ลักษณะงานเดิม →   เจ้าของกิจการ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเป้าหมายคือการที่เรากำหนดเส้นทางและแนวทางรวมทั้งข้อปฎิบัติ ที่สามารถวัดผลหรือประเมินได้จากการใช้ SMART goals และเราจะนำ SMART Goal มาช่วยกำหนดเป้าหมายและเส้นทางในการย้ายสายงานหรืออุตสาหกรรมกันได้อย่างไร ลองมาดูตัวอย่างต่างๆ กันก่อน

S – Specific

การกำหนดเป้าหมายเฉพาะของตัวเองก่อน ถ้าเป็นเป้าหมายใหญ่ ควรต้องมีการแบ่งย่อยให้เป็นแต่ละประเภทเพื่อให้การปฎิบัติไม่ซับซ้อนและสามารถวัดประเมินผลได้อย่างจริงจัง พูดง่ายๆ ก็คือ อยากประสบความสำเร็จในเรื่องอะไร และจะทำอย่างไร

ตัวอย่างเช่น งานปัจจุบันเป็นนักการตลาดที่ได้มีโอกาสวิเคราะห์การเติบโตของตลาด แนวโน้มของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมในอนาคต กลยุทธ์ของคู่แข่ง ปัจจัยในทางบวกและลบที่มีต่ออุตสาหกรรม รวมทั้งได้มีโอกาสในการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ จนมีความรู้สึกชอบ สนุกและท้าทาย จนกระทั่งอยากเปลี่ยนสายงานจากนักการตลาด (Marketing) เป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) ในอุตสาหกรรมเดิม นีคือเป็นการระบุสายงานเป้าหมายอย่างชัดเจน สิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อมาคือ ต้องวิเคราะห์คุณสมบัติที่ต้องมี จึงจะมองเห็นว่าควรจะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม (Upskills/Reskills) แล้วจึงเริ่มวางแผน กำหนดระยะเวลา ย้อนกลับมาดูว่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมามีความใกล้เคียงกับงานนี้เพื่อนำมาเขียน Resume เพื่อใช้ในการสมัครงาน

M – Measurable

กำหนดวิธีการวัดประเมินผล เครื่องมือที่ใช้ในการวัด ระยะเวลาในการประเมินให้ชัดเจนและสามารถทำได้ ใช้ข้อมูลอะไรที่จะใช้ตัดสินว่าเป้าหมายจะบรรลุผลหรือไม่ และการวัดผลมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหน

เมื่อกำหนดเป้าหมายหลักที่ชัดเจนได้แล้ว มีการวางแผนและระยะเวลาที่ต้องการแล้ว ต้องมากำหนดตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม เช่น ความสามารถและความชำนาญหลักที่เป็นที่ต้องการของตำแหน่งนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) ต้องมีอะไรบ้าง เช่น ใบรับรอง Google Data Analytics Certificate ต้องสอบผ่าน SQL และ Python พื้นฐาน และอื่นๆ อีกก็ตาม หลังจากนั้นตรวจสอบว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน ถ้าทำได้เป็นไปตามเป้าหมายและกำหนดการที่วางไว้ ควรต้องสมัครงานอย่างน้อยกี่บริษัท และจะต้องได้เข้าสัมภาษณ์อย่างน้อยกี่บริษัท เพื่อประเมินต่อว่าความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน

A- Achievable

ควรต้องมีการสำรวจเป้าหมายว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อช่วยในการวางแผน ประหยัดเวลาและทรัพยากร ตัดเป้าหมายที่ไม่สามารถปฎิบัติได้จะได้ไม่เสียกำลังใจและไม่สร้างความผิดหวังให้กับตัวเอง

เมื่อประเมินทักษะปัจจุบันแล้ว เดินตามขั้นตอนแผนพัฒนาทักษะที่ขาดแล้ว ต้องวิเคราะห์ Gap Skills ฝึกทำโปรเจคส่วนตัว หรือเข้าร่วมคอมมูนิตี้นักวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างเครือข่าย พัฒนาความชำนาญ และสร้างโอกาสในการเพิ่มประสบการณ์เพื่อเตรียมการสัมภาษณ์

R- Relevant

มีส่วนไหนที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว สร้างความเกี่ยวเนื่องและนำมาพิจารณาเพื่อให้บรรลุตามเจตนา เช่นเป้าหมายที่กำหนดมีความหมายต่อบุคคลอย่างไร ในสถานการณ์ปัจจุบันคุ้มค่ากับการพัฒนาและลงทุนหรือไม่

ความสอดคล้องที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้คือ ข้อกำหนดของบริษัทที่ต้องการร่วมงานด้วย สำรวจความต้องการของตัวเองอย่างจริงจัง สำรวจตลาดแรงงานในช่วงนั้น วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ สำรวจความต้องการของตลาด ประเมินความถนัดตนเอง และอาจจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในสายงานนั้นๆ เพื่อยืนยันสิ่งที่เราคิด ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เราจะมองข้ามไม่ได้

T- Time-bound

มีการกำหนดกรอบเวลาไว้อย่างไรบ้าง ต้องวัดผลบ่อยขนาดไหน เป้าหมายเฉพาะที่แบ่งซอยออกมาต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่เท่าไร เพื่อช่วยในการติดตามความคืบหน้า สร้างแรงจูงใจ ประเมินผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม และบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การแบ่งช่วงเวลาเพื่อการวางแผน และกำหนดเส้นชัยที่ชัดเจน จะทำให้เราไม่เสียเวลาและทรัพยากรที่ไม่จำเป็น เช่น

เดือนที่ 1-2: กำหนดการเรียนรู้พื้นฐาน

เดือนที่ 3-4: ฝึกทักษะเชิงลึก

เดือนที่ 5: สอบใบรับรอง

เดือนที่ 6: เริ่มสมัครงาน

เดือนที่ 7-8: สัมภาษณ์งาน

เดือนที่ 9: เริ่มงานใหม่

การกำหนดเป้าหมายเฉพาะทาง ต้องเป็นการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน มีการวางแผนล่วงหน้าทั้งระยะสั้นและระยะยาว กำหนดสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ระบุทักษะที่ต้องพัฒนา ศึกษางานใหม่อย่างละเอียด สร้างเครือข่ายในแผนกเป้าหมาย สื่อสารกับตัวเองอย่างชัดเจน กระตือรือร้นในการเรียนรู้ รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้นจะเห็นเส้นทางและกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าภายใน 9 เดือน ก็จะสามารถเปลี่ยนงานจากนักการตลาดเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยได้ใบรับรอง Google Data Analytics Certificate และควรจะต้องสามารถสมัครงานผ่านอย่างน้อย 3 บริษัท

นอกจากการวางแผนเพื่อเปลี่ยนสายงาน เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ควรจะทำการประเมินตนเองเป็นระยะ วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ทักษะที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม กำหนดเป้าหมายในอาชีพทั้งระยะสั้นและระยะยาว เข้าร่วมอบรม สัมนา หรือเรียนออนไลน์  อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับสายงานเพื่อช่วยเพิ่มพูนความรู้ และเข้าใจตลาดรวมทั้งแนวโน้มตลาดในอนาคต เพราะสิ่งที่มีผลกระทบต่ออาชีพการงานและชีวิตอย่างมหาศาลที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้เช่น โรคระบาดใหม่ๆ เช่น COVID19 ทำให้ทั้งโลกอยู่ในสภาวะชะงักงัน หรือการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีซึ่งเราจะยังคงตามทันถ้าเรายังคงสนใจหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอๆ