ในแต่ละปี มีพนักงานทั่วโลกถูกบอกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก และบางครั้งก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่าข่าวสารการเลิกจ้างพนักงานที่เกิดขึ้นรอบตัวหรือแม้แต่กับคนใกล้ตัวทำให้เรารู้สึกวิตกกังวล เมื่อเป็นเรื่องที่เราตระหนักรู้ ดังนั้นเราก็ควรจะมีการเตรียมตัวไว้ในกรณีที่เรากลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกบอกเลิกจ้าง แนวทางการปฏิบัติต่อไปนี้ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การฟื้นตัวบนเส้นทางการทำงานของตัวเอง
ผ่อนคลายและใส่ใจสภาวะจิตใจ
บางคนอาจมองว่า เมื่อถูกบอกเลิกจ้าง อันดับแรกต้องเตรียมเรซูเม่ (resume) และหางานใหม่ให้เร็วที่สุด แต่แท้จริงที่แล้ว เราควรคำนึงถึงสภาวะจิตใจของตัวเองเป็นอันดับแรก
สภาวะจิตใจมักจะแปรปรวนไปกับสถานการณ์เมื่อถูกบอกเลิกจ้าง (layoff) บางครั้งอาจเกิดความสับสน เกิดความรู้สึกหลากหลายปนเปกันตั้งแต่รู้สึกโกรธไปจนถึงความวิตกกังวล หรือเกิดสภาวะเศร้าซึมที่ต้องสูญเสียงานและเพื่อนร่วมงานที่เราชื่นชอบและผูกพันกันเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น เราควรปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้ผ่านไปก่อนเพื่อให้สภาพจิตใจตัวเองพร้อมที่สุดก่อนเริ่มหางานใหม่
เรียบเรียงข้อความเตรียมเพื่อตอบคำถามเมื่อถูกบอกเลิกจ้าง
แม้ว่าการบอกเลิกจ้างเกิดขึ้นด้วยเหตุผลมากมายทางธุรกิจ แต่กุญแจสำคัญคือเราจะเล่าและเรียบเรียงคำพูดเมื่อถูกเลิกจ้างให้เหมาะสมและกระชับได้อย่างไรเพื่อการสมัครงานใหม่
เราควรต้องเตรียมข้อความในเชิงบวกให้สั้นกระชับและพูดด้วยความมั่นใจ เช่น มีการปรับโครงสร้างภายในบริษัท ตำแหน่งของดิฉัน/ผมถูกยกเลิกไป ดิฉัน/ผมขอใช้โอกาสนี้ในการมองหาตำแหน่งงานใหม่ให้กับตัวเอง และที่สำคัญต้องปรับเรซูเม่และโปรไฟล์ LinkedIn ให้พร้อมที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะบอกว่า ‘ตอนนี้คุณเป็นใครและมีความสำเร็จในด้านใดมาบ้าง’ ไม่ใช่ ‘คุณเป็นใครในตอนนั้น’
ติดต่อเครือข่ายทางสังคมทั้งตามกลุ่มสายงานและแบบส่วนตัว
ไม่แปลกเลย ถ้าความมั่นใจของเราอาจจะลดต่ำถึงขีดสุดในช่วงนี้ เราจึงต้องปรับมุมมองก่อนว่าการถูกบอกเลิกจ้างไม่ใช่ความล้มเหลวและไม่มีอะไรต้องอายที่จะแชร์ออกไปให้คนรอบข้างรับรู้ การติดต่อหาเครือข่ายสังคมที่เป็นคนรอบข้างของตัวเราเองทั้งกลุ่มในสายงานหรือกลุ่มส่วนตัว ถือเป็นอีกช่องทางในการหางานที่ดีอย่างหนึ่ง การนัดพบปะเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์และแชร์วิสัยทัศน์อาจกลายเป็นโอกาสสำหรับก้าวต่อไปในเส้นทางอาชีพของเรา ที่สำคัญ เราต้องเตรียมคำถามหรือข้อมูลมาเพื่อแลกเปลี่ยนกันด้วย อย่าให้พวกเขาเป็นผู้สัมภาษณ์คุณฝ่ายเดียว
โฟกัสไปที่การเพิ่มทักษะให้กับตัวเอง
ในช่วงหลังการบอกเลิกจ้าง ถือเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ทำให้เราสามารถใช้เวลาเพื่อพัฒนาทักษะที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งการเพิ่มทักษะใหม่เข้ามาเพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน อาจเริ่มจากการประเมินตัวเองเพื่อให้เรารู้จุดแข็ง-จุดอ่อนตัวเอง มีหลายวิธีที่เราสามารถยกระดับทักษะตัวเองได้ เช่น การเรียนออนไลน์ การเข้าร่วมสัมมนา การเข้าร่วมฝึกอบรมวิชาชีพต่าง ๆ วิธีเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มทักษะให้เรา แต่ยังเป็นโอกาสในการขยายเครือข่ายทางสังคมให้รู้จักผู้คนมากขึ้น
เมื่อพร้อมทุกอย่างแล้ว เริ่มการหางานได้เลย!
บางคนอาจรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ หรือเสียศูนย์ไปเลยหลังจากที่ถูกบอกเลิกจ้าง ดังนั้น ขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมดและเวลาจะช่วยฟื้นฟูความรู้สึก สร้างความพร้อมในการหางานใหม่ ประเมินเส้นทางอาชีพใหม่ ขยายเครือข่ายของตัวเอง และยกระดับทักษะเพื่อสร้างจุดแข็งที่โดดเด่นให้กลายเป็นผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสงานใหม่ ๆ ให้ตัวเองด้วยความมั่นใจ และผู้ว่าจ้างจะสามารถเข้าถึงความเป็นตัวตนและความเป็นมืออาชีพของเรา
Reference – How to Rebound After a Layoff