คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเราอย่างมากมาย และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า AI ทำอะไรได้บ้าง อาจจะรับรู้อีกทีเมื่อได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันจากการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ไปแล้ว
เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ AI คือเทคโนโลยีที่ทำให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรสามารถทำงานได้เหมือนคน สามารถเรียนรู้ วางแผน และแก้ปัญหาได้เหมือนคน แต่ก็ไม่ใช่ว่า AI จะมาทดแทนคนได้ เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยี AI ยังไม่สามารถทำในส่วนและหน้าที่ที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสได้ แต่ AI มีความสามารถในการประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วกว่าสมองของคน
การทำงานของ AI ต้องใช้หลากหลายเทคโนโลยีเชื่อมโยงองค์ประกอบซ้อนกันหลายอย่างทั้งในส่วนที่เป็น Machine Learning คือการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ด้วยตัวเองจากข้อมูลที่มีอยู่เน้นการจดจำลักษณะเด่นเพื่อจำแนกความแตกต่างของข้อมูลเป็นหลัก และ Deep Learning คือ การเรียนรู้ของระบบคอมพิวเตอร์จากข้อมูลที่มีอยู่และสร้างโมเดลผ่านการจำลองรูปแบบการประมวลผลของสมองมนุษย์โดยใช้เหตุผลและการวิเคราะห์ สามารถคาดการณ์ ทำนายผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำ และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้อีกด้วย ดังนั้นเราจึงใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ชึ่งสร้างผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะรูปแบบการทำงาน ตัวอย่างเช่น องค์กรระดับโลกมากกว่า 98% ใช้ AI ในการคัดเลือกพนักงานจากผู้สมัครที่มีจำนวนมาก เพราะ AI สามารถประเมินผู้สมัครได้รวดเร็วและแม่นยำ หรือในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีการใช้ AI ในการบริหารจัดการพนักงานในคลังสินค้า การจัดเก็บสินค้า ทำให้ลดความจำเป็นในการใช้พนักงานจำนวนมากและเพิ่มความแม่นยำในการจัดการสินค้า
AI จะช่วยการเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็น การผลิต การขายรวมทั้ง e-commerce การตลาด การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะเทคโนโลยี AI สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า วิจัยการตลาดเชิงลึก ช่วยสร้างความเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เป็นเครื่องมือที่ช่วยในกระบวนการวิจัย พัฒนากระบวนการทำงานในทุกๆ หน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญช่วยลดต้นทุน
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการใช้งาน AI
การบริหารและจัดการองค์กรในยุคดิจิตัล ที่ต้องการความแม่นยำและรวดเร็วในการตัดสินใจทั้งการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้การคาดการณ์ยอดขาย การขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การเก็บข้อมูลลูกค้า การจัดการกระบวนการทำงาน การใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยทางด้าน IT ล้วนเป็นปัจจัยที่องค์กรต้องตระหนักรู้ การนำเทคโนโลยี AI มาใช้จึงอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรตั้งแต่เกิดผลกระทบจากน้อยที่สุดจนถึงการ Transformation ดังนั้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการใช้งาน AI จำเป็นต้องมีการวางแผนและเตรียมการอย่างรอบคอบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดประโยชน์สูงสุด
การเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยี
การกำหนดโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น เซิร์ฟเวอร์ ระบบเครือข่าย และคลาวด์ให้เพียงพอ การนำระบบใหม่มาใช้จึงต้องวางแผนการรวมระบบ (System Integration) ควรต้องจัดการให้ระบบเก่าและระบบใหม่สามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อให้การทำงานของระบบโดยรวมสามารถรองรับ ประมวลผลและใช้งานข้อมูลร่วมที่มีจำนวนมากได้อย่างราบรื่น
การพัฒนาทักษะและการฝึกอบรมพนักงาน
เพื่อให้พนักงานเข้าใจถึงพื้นฐานของ AI และวิธีการนำ AI ไปใช้งานในส่วนงานต่างๆ ขององค์กร และเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่พนักงานในทุกระดับต้องเข้าใจและทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของ AI ต่อการทำงาน เพื่อให้พนักงานรู้สึกมั่นใจและพร้อมที่จะปรับตัว
การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร (Change Management)
การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้งาน AI การสื่อสารที่ชัดเจน การให้พนักงานมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลง การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง การจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจจะช่วยให้การปรับเปลี่ยนเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาจจะมีผลกระทบต่อการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบใหม่ กระบวนการทำงานที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นการลด เพิ่มหรือปรับก็ตาม
การบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัยทางด้านข้อมูล
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูล การรั่วไหลของข้อมูล ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงควรต้องนำเทคโนโลยี AI มาสร้างความเสี่ยง ประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจากความผิดพลาดของระบบหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วเกินไป
การวางแผนและทดสอบขึ้นอยู่กับความเสี่ยง
ควรเริ่มต้นจากการนำ AI มาใช้ในงานที่มีความเสี่ยงน้อยและไม่ซับซ้อน เช่น งานที่มีรูปแบบชัดเจนและเป็นอัตโนมัติ จัดให้มีการทดสอบและประเมินผลอย่างจริงจังตามกำหนดระยะเวลาที่ตั้งไว้ เพื่อนำมาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาใช้ในงานที่มีระดับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นต่อไป เพราะ AI เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็ว
การใช้ AI ในการบริหารจัดการองค์กรและการตัดสินใจ
เทคโนโลยี AI ช่วยเพิ่มความแม่นยำและรวดเร็วในการตัดสินใจ และลดความผิดพลาด ดังนั้นการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในองค์กรจึงขึ้นอยู่กับนโยบายและการกำหนดทิศทางทางธุรกิจขององค์กร การใช้ AI ในส่วนไหนก่อนหลังก็ต้องดูว่า AI ช่วยองค์กรในด้านใดได้บ้าง เช่น
- การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Deep Analytics) เทคโนโลยี AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากและซับซ้อนในเวลารวดเร็ว ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มตลาด พฤติกรรมลูกค้า และข้อมูลทางการเงิน ช่วยให้สามารถตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่แม่นยำ การใช้โมเดลการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต (Forecasting) เช่น ยอดขาย ความต้องการสินค้า หรือการคาดการณ์ความเสี่ยง ซึ่งช่วยให้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Process Optimization) ไม่ว่าจะเป็นงานที่เป็นรูทีน ทำซ้ำๆ และใช้เวลานาน เช่น การประมวลผลใบสั่งซื้อ การจัดการระบบซัพพลายเชน AI ช่วยลดภาระงานของพนักงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิต AI สามารถวิเคราะห์กระบวนการทำงานและเสนอแนวทางในการปรับปรุง เพื่อลดเวลาการทำงาน ลดข้อผิดพลาดในการผลิต หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร
- การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) โดยเฉพาะการสรรหาและคัดเลือกบุคลากร (Recruitment and Talent Acquisition) องค์กรส่วนใหญ่ใช้ AI ในการคัดกรองใบสมัครและประเมินความเหมาะสมของผู้สมัครงาน โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ ประสบการณ์ และทักษะต่างๆ AI ยังช่วยวางแผนการพัฒนาทักษะและการฝึกอบรม (Training and Development) ที่ปรับตามความต้องการของพนักงานแต่ละคน โดยวิเคราะห์จากทักษะปัจจุบันและความต้องการของตลาด และแนะนำเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพให้กับพนักงานได้อย่างเหมาะสม
- การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Decision-Making) โดยการสร้างสถานการณ์จำลอง (Scenario Planning) เพื่อตรวจสอบผลลัพธ์ของการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ เห็นภาพรวมของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจในแต่ละตัวเลือก และช่วยให้การการตัดสินใจ (Decision Support Systems) เหมาะสมและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องเช่น การเลือกคู่ค้าทางธุรกิจ การตัดสินใจลงทุน หรือการวางแผนกลยุทธ์
- การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) จากผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction Analysis) AI สามารถช่วยกำหนดแนวทางในการปรับปรุงสินค้าและบริการให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า
- การจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain Management) AI ช่วยคาดการณ์ความต้องการ (Demand Forecasting) จากการวิเคราะห์ข้อมูลการขายในอดีตและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ช่วยสร้างความแม่นยำในการวางแผนการผลิตและการจัดสต็อกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การปรับปรุงการขนส่งและโลจิสติกส์ (Logistics Optimization) AI ช่วยวิเคราะห์เส้นทางการขนส่ง การวางแผนการจัดส่ง เพื่อลดต้นทุนและเวลาในการขนส่ง
- การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) AI ช่วยประเมินและจัดการความเสี่ยง (Risk Assessment and Management) จากวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์ความเสี่ยงต่างๆ และช่วยในการวางแผนจัดการเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ รวมทั้งการตรวจจับความผิดปกติในข้อมูล เช่น การทุจริต หรือการโจมตีทางไซเบอร์ทำให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
- การสร้างนวัตกรรมและการวิจัยพัฒนา (Innovation and R&D) จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่และค้นหาความสัมพันธ์ใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ รวมทั้งการทดสอบทฤษฎีใหม่ๆ ในกระบวนการวิจัย
สรุปได้ว่า AI มีบทบาทสำคัญในภารกิจทางธุรกิจเกือบจะในทุกๆ ขั้นตอน และเพื่อให้องค์กรยังสามารถยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและยังเป็นที่ต้องการในตลาด ที่สำคัญเพิ่มผลประกอบการให้สูงขึ้นจากการปรับปรุงสินค้าและบริการ การควบคุมต้นทุน และการพัฒนาในองค์กรอย่างต่อเนื่องและลดความเสี่ยงได้จากการใช้ AI