มีหลายคนที่ได้มีการเปลี่ยนงานอยู่บ่อย ๆ ตลอดระยะเวลาที่ทำงานทำให้เราอาจมีการได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมภาษณ์ก่อนลาออกจากงานอยู่บ้างหรือเรียกว่า Exit interview โดยการทำ Exit Interview ไม่ได้จัดขึ้นในทุกองค์กรเสมอไป แต่ถ้าหากคุณได้มีโอกาสเข้าร่วม นั่นถือเป็นช่องทางหนึ่งในการให้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ต่อองค์กร เพื่อนำเอาไปพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้กับพนักงานทั้งปัจจุบันและพนักงานใหม่ที่เข้ามาในองค์กรในอนาคต
โดยไม่ว่าคุณจะอยากเปลี่ยนงานเพราะต้องการพบเจอกับโอกาสใหม่ ๆ ต้องการหลีกหนีจากหัวหน้างานที่ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่นัก ต้องการมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น (work-life balance) ได้งานที่ตรงกับความต้องการ การใช้ชีวิตมากกว่า หรือจะด้วยเหตุผลทั้งหมดเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือจะต้องไม่ทำให้ช่วง Exit Interview เป็นเหมือนสถานที่ไว้ใช้เพื่อระบายอารมณ์ แต่ควรที่จะต้องสงวนท่าทีที่สงบเสงี่ยม และไปเน้นการให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมาและมีประโยชน์มากที่สุด โดยทั้งหมดจะต้องครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้
เหตุผลที่คุณลาออก
เรื่องนี้คงเข้าใจไม่ยากมากซักเท่าไหร่ คุณอาจโดนทาบทามจาก recruiter ที่มีตำแหน่งงานน่าสนใจมากกว่า ทั้งเรื่องเงินและตำแหน่งงานที่อาจจะดีกว่าที่เดิม หรือคุณอาจต้องการย้ายสถานที่พักอาศัยเพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว หรืออยากจะคอยสนับสนุนเส้นทางอาชีพของคนรักของคุณ หรือสุดท้ายแล้วคือคุณถึงจุดที่หมดไฟและต้องการเวลาที่จะได้พัก เพื่อกลับมาทบทวนสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ ในชีวิตและการทำงาน การที่คุณบอกเหตุผลเหล่านี้คร่าว ๆ จะช่วยให้องค์กรได้ซักถามข้อมูลเชิงลึกต่อไปในส่วนต่าง ๆ ได้
ความลงตัวของงานและการมีเครื่องมือที่ครบครัน
งานที่คุณทำนั้นมีความหมายและมันทำให้คุณอยากเติบโตมากแค่ไหน? หัวหน้างานของคุณสร้างโอกาสให้คุณได้แสดงถึงจุดแข็งในตัวคุณอย่างเต็มที่หรือไม่ นอกจากนี้ควรมีการร่วมแชร์ข้อมูลว่าคุณนั้นรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าในการทำงานหรือมีอุปสรรคที่ได้รับการแก้ไขจากหัวหน้าหรือไม่ และคุณมีทรัพยากรต่าง ๆ เช่น งบประมาณ บุคลากร เครื่องมือหรือรวมไปถึงซอฟแวร์ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างสะดวกครบครัน
มีโอกาสเรียนรู้และเติบโตหรือไม่
จากงานวิจัย Gallup ระบุไว้ว่า 32 % ของคนที่ลาออกเป็นเพราะมองไม่เห็นเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพนี้ในองค์กร คุณควรบอกเล่าว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับเส้นทางการเติบโตในองค์กรนี้ มีโอกาสได้พัฒนาทักษะใหม่ ๆหรือมีการให้รับผิดชอบงานโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ที่แสนจะท้าทาย ที่จะทำให้คุณเติบโตได้มากขึ้นหรือไม่ การได้รับคำแนะนำและคำติชมที่มีประโยชน์จากหัวหน้างานอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณเรียนรู้และพัฒนาทักษะการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
ความรู้สึกต่อหัวหน้างานและผู้บริหารคนอื่น ๆ
นี่เป็นโอกาสให้คุณได้ชื่นชมหัวหน้าที่มีภาวะผู้นำที่ดี และบอกเหตุผลว่าอะไรที่ทำให้พวกเขาน่าร่วมงานด้วย หรือในทางกลับกันถือเป็นโอกาสที่จะแจ้งให้ทราบถึงหัวหน้าที่ไม่ค่อยส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี หรือเป็นตัวปัญหาที่ทำให้คุณตัดสินใจลาออก เช่น เป็นหัวหน้าที่ชอบบูลลี่ หรือสร้างความหวาดกลัว การที่มีการทำ Exit Interview หลายคนสะท้อนถึงปัญหาที่คล้าย ๆ กันจะช่วยให้ตัวองค์กรอยากเริ่มลงมือแก้ไขอย่างจริงจังมากขึ้น อาจมีการจัดโค้ชชิ่งให้หัวหน้าคนนั้นเพื่อพัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้น ลดพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์และไม่เป็นประโยชน์ หรือมีการสอบสวนเพิ่มเติมที่จะนำไปสู่บทลงโทษที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการช่วยทั้งเพื่อนร่วมงานของคุณ รวมถึงพนักงานใหม่ในอนาคต
สิ่งที่คุณชื่นชอบหรือประทับใจต่อองค์กร
อะไรที่คุณชื่นชอบและรู้สึกขอบคุณจากการได้ทำงานที่นี่ อาจจะเป็นเรื่องของการมีเพื่อนร่วมงานที่ดี วัฒนธรรมองค์กรที่น่าร่วมงาน สวัสดิการต่าง ๆ หรือมีการลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรองค์กรก็ต้องการคำชื่นชมเช่นเดียวกัน เพื่อให้ทราบว่าอะไรคือสิ่งที่ควรต้องทำหรือปรับปรุงพัฒนาต่อไป
ข้อเสนอแนะหลัก ๆ ในการปรับปรุงพัฒนาองค์กร
ลองระบุซัก 1-2 จุดที่มีความสำคัญที่สุดในการพัฒนาองค์กร ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณอยากทำงานต่อถ้ามีสิ่งนี้ เช่น มีทางเลือกในการทำงานที่ยืดหยุ่นมากกว่านี้ มีค่าตอบแทนที่น่าดึงดูดใจ (พร้อมข้อมูลอ้างอิงถ้ามี) วัฒนธรรมองค์กรควรเปิดกว้างสำหรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และการมีช่องทางให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นต่อผู้บริหาร
การใช้เวลาพูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นอย่างสร้างสรรค์จะช่วยทำให้องค์กรมีทิศทางพัฒนาที่ชัดเจนมากขึ้น ผู้นำที่ดีคือคนที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นสำหรับผู้อื่น ดังนั้น Exit Interview จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดี ๆ ที่ตามมานั่นเอง
Reference: