ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าผลกระทบของการถูกบอกเลิกจ้างไม่ได้มีผลเพียงแค่เฉพาะตัวบุคคลแต่อาจจะส่งผลกระทบไปถึงอนาคตของเขาซึ่งอาจจะเป็นภาระที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การศึกษาของลูก ภาระหนี้สินการผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด ผ่อนรถ จนกระทั่งถึงค่าใช้จ่ายโดยบัตรเครดิตที่ใช้ล่วงหน้าไปแล้ว บวกกับระยะเวลาที่มีผลจากการบอกเลิกจ้างที่อาจจะมีผลในทันที หรืออย่างมากก็อาจจะมีเวลาต่ออีก 1-2 เดือนเท่านั้น ด้วยเวลาเตรียมตัวหรือตั้งตัวเพียงน้อยนิดทำให้เกิดความกังวลว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เงินที่ได้มาจะเพียงพอมั๊ย จะหางานใหม่ได้มั๊ย จะได้เงินเดือนเท่าเดิมหรือมากกว่ามั๊ย จะมีผลต่ออาชีพอย่างไรอีกบ้าง ทำไมต้องเป็นฉัน และอีกหลาย ๆ ทำไมและอย่างไร จากความกังวลสะสมเปลี่ยนเป็นความโกรธ และความเกลียดยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าทางออกมีไม่มากนัก หรือสมัครงานไปแล้วหลายที่ไม่มีที่ไหนเรียกสัมภาษณ์ และก็ไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าจะได้งานใหม่ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า เงินก้อนที่ได้มาก็เริ่มร่อยหรอ กลายเป็นความท้อ หนักสุดก็ไม่ยอมหางาน ไม่กล้าเผชิญหน้ากับคนอื่น ๆ รู้สึกขาดความมั่นใจ หรืออาจจะเหมือนคนอกหัก
อย่าลืมว่า คุณไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะใครอีกหลาย ๆ คนก็เคยเจอ หรือกำลังเจอสภาวะเดียวกับคุณเช่นกัน พวกเขาเหล่านั้นก้าวข้ามผ่านไปได้อย่างไร
ทุกสถาบันจะอ้างถึง 5 ระดับของสภาวะทางอารมณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละบุคคล บางครั้งอาจจะคิดได้ก็ปรับตัวได้ พอเจอความผิดหวังก็กลับไปรู้สึกเหมือนเดิม สภาวะอารมณ์ก็จะเป็นเหมือนคลื่นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
มาทำความรู้จัก 5 สภาวะทางอารมณ์ที่ต้องจัดการกันก่อน
-
ระยะที่ 1 คือการปฏิเสธ (Denial)
เป็นระยะเริ่มต้นของความโศกเศร้าจากการสูญเสีย อาจจะเกิดจากการช็อคจากเรื่องที่ไม่คาดคิด ยิ่งถ้าได้ทราบข้อมูลที่ไม่ชัดเจน และไม่ครบถ้วน ก็จะยิ่งทำให้เกิดความกลัว จึงไม่ยอมรับ และปฏิเสธว่าไม่ใช่เรื่องจริง ดังนั้นในฐานะนายจ้าง ต้องเข้าใจว่าลูกจ้างต้องใช้เวลาในการยอมรับว่างานที่นี่จบแล้วจริง ๆ ไม่สามารถไปต่อได้แล้ว เมื่อลูกจ้างตระหนักรู้แล้ว จึงค่อยให้ข้อมูลสนับสนุนอื่น ๆ และนายจ้างเองก็ต้องเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ที่อาจจะเกิดจากสภาวะทางอารมณ์ ซึ่งอาจจะยังรู้สึกต่อต้านอยู่
-
ระยะที่ 2 คือ ผิดหวังคับข้องใจหรือโกรธ
คือสภาวะที่รับรู้ว่ามันเกิดขึ้นจริง และเปลี่ยนเป็นความโกรธซึ่งโดยปกติจะไม่ใช่เป็นการโกรธผู้ที่เป็นตัวแทนนายจ้างในการแจ้งข่าว หรือโกรธเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้มีผลกระทบ แต่มักจะโกรธเมื่อได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรติกัน หรือการจัดการที่ไม่ดี หรือแม้แต่การไม่ใส่ใจต่อความรู้สึกของลูกจ้าง ในฐานะตัวแทนนายจ้างไม่ควรต้องพยายามที่จะแสดงความคิดเห็นต่อจากนี้เพราะลูกจ้างไม่เปิดใจด้วยอีกแล้ว เว้นช่วงเวลาให้ลูกจ้างได้มีเวลาทบทวนอีกนิดและเมื่อมีคำถาม ควรตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกจ้างหลังจากนี้ด้วยความเห็นใจ
-
ระยะที่ 3 การเจรจาต่อรอง (Bargaining)
เป็นช่วงที่ลูกจ้างเริ่มเจรจาต่อรอง โดยอาจจะขอโอกาสใหม่ จะปรับตัวใหม่ หรือแม้กระทั่งถามว่าควรจะทำอย่างไรให้แตกต่างไปจากเดิมเพื่อให้มีโอกาสทำงานต่อ ซึ่งบางครั้งอาจจะถึงกับให้สัญญาที่เกินจริงก็ได้ ตัวแทนนายจ้างเองก็ต้องยืนยันว่าการเลิกจ้างไม่ได้เป็นเรื่องบุคคล แต่เป็นตำแหน่งที่ลูกจ้างทำอยู่ที่ต้องยกเลิกไป และอาจจะให้ข้อมูลสนับสนุนไม่ว่าในแง่ของทักษะและความสามารถที่ลูกจ้างมีอยู่สามารถประกอบอาชีพด้านใด และในอุตสาหกรรมไหนได้อีกบ้าง หรือบริษัทได้จัดโครงการอบรมช่วยเหลือลูกจ้างช่วยให้ลูกจ้างมีความมั่นใจในการหางานได้ใหม่
-
ระยะที่ 4 โศกเศร้าเสียใจ (Depression)
เป็นระยะที่ลูกจ้างตระหนักรู้ว่าสิ่งที่รับรู้มาจะไม่เปลี่ยนแปลงไปอีกแล้ว นั่นหมายถึงลูกจ้างจะพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างแน่แล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง หมดโอกาสและเสียใจ ในฐานะนายจ้างต้องไม่พยายามที่จะช่วยลูกจ้างแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด เพราะความเศร้าโศกเสียใจเป็นกระบวนการรักษาอันเกิดจากการสูญเสีย นายจ้างเพียงแค่เข้าใจความต้องการของลูกจ้างอย่างเปิดใจ ให้แนวคิดที่ทำให้ลูกจ้างมองเห็นแนวทางที่จะสามารถไปต่อได้
-
ระยะที่ 5 การยอมรับ (Acceptance)
คือสภาวะที่ยอมรับว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง และนายจ้างเองก็ต้องยอมรับว่าลูกจ้างอาจจะไม่ได้รู้สึกดีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การให้เกียรติ การแสดงออกถึงความจริงใจอย่างเปิดใจ ก็ช่วยให้ลูกจ้างยอมรับอย่างเข้าใจและไปต่อได้อย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้น
การแสดงออกทางอารมณ์ของแต่ละคนก็แล้วแต่สภาวะจิตใจของลูกจ้างแต่โดยรวมก็จะมีการแสดงออกที่คล้าย ๆ กันดังนี้
- ร้องไห้
- เพิกเฉยไม่ยินดียินร้าย
- สติแตก ควบคุมอารมณ์ไม่ได้
- ทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น และปกปิดครอบครัว หรือเพื่อน ๆ
- อารมณ์เหวี่ยง ขึ้น ๆ ลง ๆ วันนี้ดี พรุ่งนี้โกรธ
ดังนั้นนายจ้างจึงต้องเข้าใจสภาวะเหล่านี้ การวางแผนขั้นตอนการบอกเลิกจ้างจึงสำคัญที่สุด การให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้การฝึกอบรมช่วยเหลือทั้งขั้นตอนการวางแผนและปฏิบัติไปจนถึงโครงการช่วยเหลือพนักงานในการฝึกอบรมการเตรียมตัวหางานเพื่อให้ลูกจ้างได้งานใหม่อย่างเหมาะสมและเข้าใจเทรนด์การหางานในช่วงนั้น ๆ อีกด้วย ช่วยให้ระยะการปรับเปลี่ยนในอาชีพของลูกจ้างมีความหวังละมีความหมาย นายจ้างเองก็จะเป็นผู้ที่ให้ความใส่ใจในตัวลูกจ้างแม้ว่าจะพ้นสภาพการจ้างแล้วก็ตาม ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรอีกด้วย
ตัวลูกจ้างเองก็ควรมองหาแนวทางในการช่วยเหลือตัวเองให้มีความมั่นคงทางสภาวะทางอารมณ์ด้วยเช่นกัน เช่น
- การถูกเลิกจ้างไม่ได้เกิดกับคุณเพียงคนเดียว มีคนอีกมากมายก็เจอสถานะเดียวกับคุณ
- ไม่โทษตัวเอง เพราะการบอกเลิกจ้างไม่ใช่เรื่องของบุคคลแต่ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับโครงสร้างและตำแหน่ง
- คุยกับคนที่คุณไว้ใจได้ แชร์ความรู้สึก หรือร้องไห้ด้วยได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก ช่วยให้คลายความรู้สึกที่หนัก ๆ ออกไป และพยายามปลดปล่อยความรู้สึกแย่ ๆ
- ไม่ฝังตัวเองไว้กับอดีต ต้องมองหาโอกาสให้ตัวเองเพื่ออนาคตที่สดใส
- ต้องเชื่อว่ามีความสามารถ และมีโอกาสให้คนที่มีความสามารถเสมอ
- โฟกัสในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ และสร้างโอกาสจากสิ่งนั้น ๆ เช่น ทักษะสำคัญที่เรามี สามารถหางาน หรือสร้างธุรกิจส่วนตัว
- ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องดีไปหมด It’s OK not to be OK.
- วางแผนหาหนทางใหม่ แนวทางการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ ๆ ทำสิ่งที่วางแผนไว้และสิ่งที่ยังไม่มีโอกาสทำ หรือหาความรู้ใหม่ ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
- ไม่คิดอคติกับองค์กร เพราะองค์กรเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะชื่อเสียงขององค์กร คนในองค์กรที่จะเป็นบุคคลอ้างอิงสำหรับโอกาสและงานใหม่
- วางแผนการหางาน ปรับเรซูเม่และ LinkedIn Profile หาแหล่งงาน สมัครงาน เตรียมตัวสัมภาษณ์งาน
คุณก็สามารถเป็นอีกหนึ่งคนที่ประสบความสำเร็จในการได้งานใหม่ ปรับตัวไปกับที่ทำงานใหม่และเพื่อนใหม่ในที่ทำงาน