มาดูสถิติเหตุผลการลาออกของพนักงานของหลายๆ สถาบันที่ได้มีการสำรวจไว้ จะแตกต่างกันเล็กน้อยคือสัดส่วนของแต่สาเหตุอันเนื่องจากความแตกต่างทางด้านอุตสาหกรรม ขนาดขององค์กร แต่ที่แน่ๆ 5 เหตุผลหลักของพนักงานที่เลือกลาออกจากงานค่อนข้างตรงกัน มาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มักพบบ่อยๆ
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ
- ความไม่พอใจในสวัสดิการและค่าตอบแทน 20%
- ขาดโอกาสก้าวหน้าและเติบโตในสายอาชีพ 18%
- สภาพแวดล้อมการทำงานไม่เหมาะสม 12%
- ความสัมพันธ์กับหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานไม่ดี 10%
- ขาดความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน 10%
ความไม่พอใจในสวัสดิการและค่าตอบแทน
ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในวันที่พนักงานตัดสินใจร่วมงานกับองค์กร ในวันนั้นก็ได้พิจารณาแล้วว่าค่าตอบแทนเป็นที่ยอมรับได้ แล้วทำไมถึงกลายเป็นว่าพนักงานจำนวนมากกลับรู้สึกว่าเงินเดือนและสวัสดิการที่ได้รับไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับงานที่ทำ อาจจะเป็นเพราะพนักงานเริ่มรู้สึกว่างานที่ได้รับมอบหมายมีมากขึ้น มีความรับผิดชอบสูงขึ้นแต่ค่าตอบแทนไม่ได้เติบโตในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่มีการประกาศหาคนในตำแหน่งที่เท่า
ดังนั้นการตรวจสอบปรับปรุงโครงสร้างค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับตลาดแรงงาน และความสามารถของพนักงานเพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รวมทั้งจัดให้มีการประเมินและปรับปรุงสวัสดิการจากการทำสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน เพราะนอกจากจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ลดอัตราการลาออกของพนักงาน และยังเป็นปัจจัยสำคัญของพนักงานที่จะตัดสินใจร่วมงานกับองค์กรหรือไม่อีกด้วย เพราะพนักงานส่วนใหญ่เชื่อว่า การที่องค์กรให้ความสำคัญต่อสวัสดิการของพนักงานแสดงให้เห็นว่าองค์กรดูแลสารทุกข์สุกดิบของพนักงาน เสริมสร้างกำลังใจให้พนักงานยังคงร่วมงานกับบริษัท อดทนต่อปัญหาอื่นได้มากขึ้น และสร้างเป้าหมายในการทำงานให้ตรงตามแผนการดำเนินงานขององค์กรได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่าองค์กรจะดูแลพวกเขาและเติบโตไปพร้อมๆ กับองค์กร และมีความสุขในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
ขาดโอกาสก้าวหน้าและเติบโตในสายอาชีพ
พนักงานที่รู้สึกว่าไม่มีโอกาสเติบโตหรือพัฒนาตนเองในองค์กรจะมีแนวโน้มลาออกสูงเพราะในโลกการทำงาน การได้มีโอกาสเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพถือเป็นผลงานและการสั่งสมประสบการณ์เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายในอาชีพที่กำหนดไว้ ดังนั้นคนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนจะมีแรงจูงใจในการทำงาน มีความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งการตั้งเป้าหมายใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
องค์กรสามารถช่วยออกแบบเส้นทางอาชีพให้กับพนักงานให้เป็นไปตามที่พนักงานวางแผนไว้ โดยการวางแผนโครงสร้างองค์กรในการสนับสนุนในการพัฒนาตัวเอง จัดให้มีการฝึกอบรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อให้พนักงานมีทักษะใหม่ๆ มีความชำนาญมากยิ่งขึ้นแม้ว่าจะยังไม่สามารถกำหนดการเลื่อนขั้น การที่องค์กรจัดหาทรัพยากร เครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาทักษะและความสามารถของพวกเขา ไม่ได้เป็นแค่การสร้างเส้นทางอาชีพให้กับพนักงาน แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและโอกาสเติบโตขยายงานขององค์กรเมื่อพร้อมอีกด้วย การให้การสนับสนุนการจัดฝึกอบรม ไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาทักษะภายในองค์กร เกิดการหมุนเวียนงานภายในองค์กร สร้างบรรยากาศส่งเสริมการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างพนักงานและถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการเติบโตทั้งในสายอาชีพให้กับพนักงานและองค์กรอีกด้วย แต่การที่องค์กรไม่มีโอกาสที่จะให้พนักงานได้เติบโตภายในองค์กร ก็เป็นไปได้สูงมากที่องค์กรจะเสียบุคคลากรเก่งๆ เหล่านั้นไป
สภาพแวดล้อมการทำงานไม่เหมาะสม
- สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมทางด้านร่างกาย เช่น พื้นที่ทำงานแออัด ไม่มีการจัดระเบียบทำให้เกิดความเครียดในการทำงาน รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นในการทำงานไม่เพียงพอ ไม่เหมาะสม แสงสว่างในการทำงานไม่เพียงพอ อุณหภูมิในห้องทำงานไม่เหมาะสม เช่นไม่มีห้องพักทานข้าวที่เหมาะสม ห้องพักระหว่างการทำงานมีอุณหภูมิสูง การจัดเบรค ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันด้านความปลอดภัย ไม่มีเครื่องมือสื่อสารระหว่างการทำงาน สร้างความเครียดในการทำงานและอาจจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อพนักงานและทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอีกด้วย
- สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมทางด้านจิตใจ อันเกิดจากความเครียด ความกดดันจากปริมาณงานที่มากเกินไป ไม่มีการสนับสนุนจากองค์กรในเรื่องของการดูแลสุขภาพในการทำงานที่มีความเสี่ยง รวมทั้งปัญหาการขัดแย้งในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นระหว่างพนักงานด้วยกัน หรือระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้องทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุน หมดกำลังใจและทำให้เกิดการขาดงาน ลางานและในที่สุดนำไปสู่การลาออกของพนักงาน องค์กรควรมีส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตรและสนับสนุนการทำงานร่วมกัน จัดหาพื้นที่ทำงานที่สะดวกสบายและมีเครื่องมือที่จำเป็นในการทำงาน รวมทั้งผู้จัดการที่ดีต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน คอยติดตามผลงาน ให้ feedback อย่างตรงไปตรงมาและสม่ำเสมอ เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงความคิดเห็น สร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ และรับผิดชอบต่องานของตัวเอง
ความสัมพันธ์กับหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานไม่ดี
ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หลากหลายปัจจัย เพราะการทำงานกับคนต้องใช้ความเข้าใจ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะเกิดความล้มเหลวในการสร้างความสัมพันธ์ทั้งกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน เช่น
- การสื่อสารที่ไม่ดี ขาดความชัดเจน หรือการให้ข้อมูลที่ไม่ครบ ข้อมูลที่สำคัญไม่ได้ถูกส่งต่อ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด อาจจะส่งผลทำให้เกิดการทำงานที่ผิดพลาด การสื่อสารที่บกพร่องล้วนแต่ทำให้เกิดผลกระทบที่ค่อนข้างสูง สร้างความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เกิดความระแวง สร้างความไม่ปรองดองในที่ทำงาน ดังนั้นการสื่อสารที่โปร่งใส ชัดเจน และตรงไปตรงมาจะช่วยลดปัญหาการขัดแย้งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
- ความแตกต่างในความคาดหวัง ทำให้การกำหนดเป้าหมายและวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน อาจสร้างความขัดแย้ง บาดหมาง ในที่สุดกลายเป็นต้องการเอาชนะคะคาน ไม่ลงรอยกัน ไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ ทำให้เกิดความแตกร้าวจากความคาดหวังที่แตกต่างกัน การเคารพการตัดสินใจของคนหมู่มาก ให้เกียรติการตัดสินใจของผู้เป็นหัวหน้างาน และหัวหน้างานเองต้องให้ feedback ที่เหมาะสม สร้างความเข้าใจแม้ว่าจะมีความคาดหวังที่แตกต่างก็ยังคงให้การทำงานเป็นทีม สร้างประสิทธิภาพของทีมและองค์กร
- ปัญหาทางบุคลิกภาพ อาจจะเกิดจากความเชื่อที่ว่า เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานมีความเย่อหยิ่งหรือไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือตัวพนักงานเองไม่ยอมรับคนที่เข้ามาใหม่ว่ามีความสามารถเท่าหรือมากกว่าตัวเอง ทำให้เกิดความไม่พอใจและสร้างความขัดแย้ง ก่อให้เกิดปัญหาการทำงาน องค์กรจึงต้องสร้างวัฒนธรรมความเท่าเทียมกันของพนักงานในองค์กร สร้างความเคารพในสิทธิ์และเกียรติของพนักงานแต่ละคน
- การจัดการไม่เหมาะสม วิธีการจัดการของหัวหน้างานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปริมาณงานที่ไม่ยุติธรรม หรือไม่สามารถสนับสนุนทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการแตกแยกของทีม ขาดแรงจูงใจในการทำงาน หมดกำลังใจในการทำงาน ส่งผลให้เกิดความเครียด การรับฟังอย่างตั้งใจทำให้เห็นปัญหา การติดตามและประเมินผลของหัวหน้างานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการให้หัวหน้างานได้มีการฝึกอบรมการเป็นผู้นำที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นการพัฒนาหัวหน้างานเท่านั้น แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมสอดคล้องกับค่านิยมของพนักงานอีกด้วย
การขาดความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน
เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในหลายองค์กร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานได้ มาดูกันว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่สามารถสร้างสมดุลในการทำงานได้
- ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน อาจเกิดจากปริมาณงานที่มากเกินไป ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างงานส่งผลให้ต้องทำงานเกินเวลาปกติหรือต้องมาทำงานในวันหยุด ซึ่งถ้าเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ พนักงานคงยังสามารถทำได้และผ่านไปได้ด้วยดี แต่ถ้าปริมาณงานหรือปัญหานั้นๆ ไม่ได้มีการแก้ไขและยังคงมีผลต่อเนื่องยาวนาน ในที่สุดพนักงานรู้สึกเหนื่อยล้าและไม่มีเวลาสำหรับชีวิตส่วนตัว รู้สึกหมดกำลังใจและไม่มีเวลาพักผ่อน เกิดความเครียดและในที่สุดต้องพิจารณาว่าจะยังคงทำต่อ หรือลาออกและหางานใหม่ที่สามารถสร้างสมดุลในชีวิตได้ดีกว่านี้
- การขาดการสนับสนุนจากองค์กร พนักงานที่รู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรในการจัดการเวลาหรือการทำงานที่ยืดหยุ่นอาจรู้สึกว่าชีวิตส่วนตัวและการทำงานไม่สมดุล แม้ว่าจะได้มีการพูดคุยกับหัวหน้างานแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนแนวทางการแก้ปัญหายังไม่ได้รับการเหลียวแล พนักงานรู้สึกไม่มีที่พึ่ง ดังนั้นการช่วยเหลือในระยะสั้นๆ เช่น ปรับการทำงานเป็นทำงานที่บ้านเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง เพียงเท่านี้พนักงานก็จะรู้สึกถึงความเอาใจใส่ดูแลขององค์กร ทำให้เกิดกำลังใจ มีความอดทนมากขึ้นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายทั้งของพนักงานเองและองค์กรอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
- กำหนดปริมาณงานและภาระอย่างเหมาะสม โดยการจ้างพนักงานแบบเป็นสัญญามาช่วยในระยะเวลาที่กำหนด เปิดโอกาสให้พนักงานได้พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาความสมดุลและเสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดการแบ่งงานอย่างเป็นธรรม ถือเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่สมดุล สร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
ยังคงมีอีกหลากหลายปัจจัยที่ทำให้พนักงานเลือกที่จะลาออกมากกว่าที่จะเปิดเผยสาเหตุของการลาออกที่แท้จริงกับองค์กร ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งๆ ที่ปัญหาเหล่านี้สามารถที่จะปรับแก้ไขได้ องค์กรไม่เพียงแต่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องเข้ากับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ของโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างดี ในขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับคน เพราะคนเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด การวางแผนและกลยุทธ์ของธุรกิจจึงต้องควบคู่ไปกับการจัดการเรื่องคน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และความก้าวหน้าขององค์กร